จินตนาการของช่างหลวง บรรจงประดิษประดอยอย่างวิจิตรด้วยเส้นสายลายฉลุ อันเป็นที่มาของชื่อ พระปรุหนัง พระเครื่องยอดนิยมของกรุงศรีอยุธยา กรปรด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ทำให้นึกถึงพุทธประวัติครั้งพระเจ้าพิมพิสาร ทรงสร้างถวายพระอารามหลวงแห่งแรกของโลก ในนาม เวฬุวัน ซึ่งถึงแม้มิได้ประดับประดาด้วยเงินทองหรือเพชรพลอยใด ๆ อันเป็นเครื่องหมายของสิ่งสูงค่า แต่ประกอบด้วยไม้ไผ่ธรรมดาเป็นหลัก ห่มคลุมด้วยพุ่มพฤกษา ให้พระพุทธองค์ ทรงประทับนั่ง แลงามสง่าด้วยบุญบารมี
เป็นไปได้ยากยิ่ง สำหรับงานช่างศิลป อันวิจิตร งดงามเช่นนี้ ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความสวยงามอ่อนหวาน ประกอบไปด้วยเส้นโค้งเว้า กลับมิได้ทำให้เรานึกถึงความงามแบบศิลปแนวนี้ทั่ว ๆ ไป ที่โดยมากมักจะดึงความรู้สึกให้ข้องเกี่ยวกับเรื่องของกิเลส อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่... พุทธศิลปของพระปรุหนังกลับสื่อถึงความงดงามทางธรรม โดยไม่มีความงามหรือความรู้สึกทางโลกมาเจือปนแม้แต่น้อย องค์ประกอบที่มุ่งเน้นพระพุทธเจ้าเป็นใจกลางหลัก พระพักตร์ยิ้มอย่างอ่อนโยน สื่อถึงความเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ มีพระโมคคัลลาและพระสารีบุตร ยืนประนมมือ สื่อถึงความศรัทธาและบารมีของพระพุทธองค์ ที่ประทับอันประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างจากธรรมชาติ เช่นเดียวกับบ้านเรือนของราษฎรทั่ว ๆ ไปในสมัยนั้น สื่อถึงความใกล้ชิด และความเป็นที่พึ่งทางใจ.................... พุ่มพฤกษาปกคลุมสื่อถึงความสงบ ร่มเย็นเป็นสุข
กล่าวได้ว่าพระปรุหนังเป็นพระเครื่องที่มีศิลป เรียกขานอย่างนามธรรมว่า พิสุทธิ์ โดยแท้ ยากที่จะหาพระเครื่องพิมพ์อื่น ๆ เทียบเคียงได้