พระอู่ทองกรุวัดสูง
เป็นพระที่กำเนิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น และเป็นพระเครื่องอีกกรุหนึ่งที่มีพิมพ์และเนื้อเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง พระพิมพ์นี้แยกได้เป็นสองพิมพ์ด้วยกันคือ พิมพ์ห้าเหลี่ยม พิมพ์ขอบโค้ง
พุทธลักษณะเป็นพระนั่งปางมารวิชัย ประทับนั่งอยู่บนฐานส่วนพระบาทนั้นจะแตกต่างจากพระอื่น คือ นั่งพระบาทซ้ายทับขวา ซึ่งพระเครื่องทั่วไปมักจะพบพระบาทขวาทับซ้าย จึงเป็นเอกลักษณ์ของพระกรุนี้ ส่วนเนื้อของพระเป็นเนื้อปูนผสมเม็ดทราย ลักษณะของเม็ดทรายจะเป็นเม็ดทรายสีเข้ม เม็ดเท่า ๆ กัน พระส่วนใหญ่ผิวพระจะหลุดร่อน ปรากฏเห็นเม็ดทรายจำนวนมาก บางองค์ลงรักปิดทองไว้ ปัจจุบันเป็นพระที่หายากและอยู่ในความนิยมมาโดยตลอด
****** พระวัดสูง เป็นพระที่ได้มีผู้ทำเสริมจากของเดิมขึ้นมาในสมัยก่อน โดยนำเศษพระแตกหักมาบดทำเนื้อหาจะฟ่ามและไม่แน่นตัวเหมือนพระวัดสูงของแท้ แต่ก็มีความเก่าเนื่องจากทำออกมานานแล้วและใช้วัตถุดิบจากพระวัดสูงแท้ ๆ นอกจากนี้ยังมีพระพิมพ์อยู่ในซุ้มเรือนแก้วซึ่งเนื้อหาใกล้เคียงกับวัดสูง จากการสืบค้นพบว่าอาจเป็นพระที่ทำจากพระวัดสูงที่แตกหักในสมัยนั้นเช่นกัน ซึ่งผู้ได้มามักพยายามอุปโลกน์ว่าเป็นพระวัดสูงพิมพ์พิเศษ และปัจจุบันมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนในวงการพระแต่ราคายังห่างจากพระวัดสูงตัวจริงอยู่มาก
*** หมายเหตุ วัดสูงในสภาพปัจจุบันก็ไม่มีเหลือโบราณสถานเป็นหลักฐานให้เห็นอีกแล้ว ที่ตั้งของวัดสูงเวลนี้คือโรงอิฐอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดนกกระจาบ โดยโรงอิฐปลูกไว้ล้อมรอบโคกที่เคยเป็นที่ตั้งของวัด อยู่ในเขตอำเภอบางบาล ***
|