พระหลวงพ่อโต
พิมพ์สมาธิ
พระเครื่องของเมืองอยุธยาล้วนแล้วแต่แสดงถึงศิลปที่สวยงามอ้อนช้อย เปี่ยมไปด้วยความรู้สึก เมตตา กรุณา สมกับที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและโน้มนำให้เกิดความสงบสุขในจิตใจของผู้พบเห็น ไม่ว่าจะเป็นพระปรุหนัง พระขุนแผนเคลือบ หรือพระซุ้มไข่ปลา ฯลฯ แต่ก็ยังมีพระเครื่องอีกตระกูลหนึ่งซึ่งนอกจากจะแสดงถึงศิลปที่งดงามในชั้นสูงแล้วนั้น ยังแสดงถึงความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว และมั่นคง ที่กล่าวมานี้คือพระเครื่องที่เรียกขานกันว่า พระหลวงพ่อโต"
พระหลวงพ่อโตมีอยู่ด้วยกัน ๒ พิมพ์ คือพิมพ์สมาธิ และพิมพ์มารวิชัย ประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้วฐานบัวคว่ำบัวหงาย ด้านข้างทำเป็นซุ้มประดับด้วยลายกนก องค์พระแลดูใหญ่ล่ำ พระพักตร์เคร่งขรึม อันเป็นที่มาของชื่อ พระหลวงพ่อโต ระหว่างซุ้มลายกนกกับองค์พระ ช่างศิลปได้ลดช่องว่างด้วยเส้นซุ้มคู่ขนานเป็นเส้นโค้ง หยักมุมตรงบริเวณคอ (พระศอ) ๒ เส้น ก่อให้เกิดความงามอย่างลงตัว ส่วนมือ (พระหัตถ์) จงใจทำเป็นเส้นโค้งเพื่อลดความดุดันและแข็งกระด้าง แต่ดูกลมกลืนกันตามแบบฉบับศิลปชั้นสูงที่เน้นถึงความสมดุลย์ขององค์ประกอบและความรู้สึกหนักเบาเป็นหลัก
พระหลวงพ่อโตเป็นพระที่มีขึ้นหลายกรุในจังหวัดอยุธยา หรือจะเรียกว่าพระประจำจังหวัดก็ว่าได้ การสร้างพระหลวงพ่อโตนี้ สันนิษฐานว่าน่าจะจำลองแบบมาจากพระประธานหลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สร้างมาก่อนสมัยอยุธยา ส่วนเนื้อพระที่พบมีทั้งเนื้อดิน เนื้อชิน และเนื้อตะกั่ว สำหรับพระเนื้อชินและเนื้อตะกั่วจะพบเป็นส่วนน้อย กรุที่พบพระมากที่สุดคือกรุวัดบางกระทิง ซึ่งเป็นกรุที่มีชื่อเสียงมากที่สุดทั้งในด้านพุทธคุณและความงดงาม
ส่วนพระกรุอื่น ๆ ก็มีลักษณะพิมพ์คล้าย ๆ กัน จะแตกต่างกันที่เนื้อและการปาดแต่งด้านหลังพระบางองค์ลงรักปิดทองไว้ พระหลวงพ่อโตนอกจากจะพบที่กรุวัดบางกระทิงแล้วยังพบที่กรุวัดอื่น ๆ อีกหลายกรุ เช่นกรุวัดราชบูรณะ กรุวัดขุนเมืองใจ กรุวัดจงกลม กรุวัดตะไกร กรุวัดสุวรรณ กรุวัดกระซ้าย กรุวัดใหม่บางกระจะ กรุวัดขวิด กรุวัดป่าใน กรุวัดสี่เหลี่ยม กรุวัดมหาโลก กรุวัดช่องลม กรุวัดสะแก กรุวัดแค ฯลฯ ส่วนในด้านพุทธคุณ พระหลวงพ่อโตนี้ดีทางแคล้วคลาดจากภัยพิบัตทั้งปวงและคงกระพันชาตรีเป็นเยี่ยม
|