วัดเจ้าปราบ
วัดเจ้าปราบ เป็นวัดโบราณที่สำคัญวัดหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมถนนอู่ทอง ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงกันข้ามกับวัดพุทไธสวรรย์ ปัจจุบันเป็นวัดร้างไม่พบหลักฐานว่าสร้างเมื่อใดใครเป็นผู้สร้าง เป็นพื้นที่สำคัญอยู่ใกล้กับ คลังดีบุกสมัยอยุธยา และอยู่ใกล้กับถนนเหล็ก หรือถนนตลาดเหล็กโบราณซึ่งเป็นถนนปูด้วยอิฐหนาประมาณ ๘๕ เซนติเมตร ตามประวัติว่ายาวประมาณ ๑ กิโลเมตร มีคูน้ำสองข้างตลอดแนวถนน คงเป็นคูที่เกิดจากการขุดดินขึ้นมาถมถนน ผู้สร้างวัดคงเป็นเจ้านายที่มีหน้าที่สำคัญในการป้องกันบ้านเมือง อาจมีหน้าที่ควบคุมการสร้างอาวุธด้วย จึงมีตำแหน่งเป็นเจ้าปราบ
ในตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนตำราหน้าที่ตำรวจได้กล่าวถึงวัดเจ้าปราบว่า " ถ้าเสด็จไปทอดพระเนตรการวัดวาอารามในกรุงนอกกรุง ถ้าในกรุง ดุจหนึ่งไปวัดเจ้าปราบนั้น (ทรง) พระเสลี่ยงไป " คำว่าเจ้าปราบ จึงน่าจะเป็นคำสำคัญในสมัยนั้น วัดเจ้าปราบเป็นวัดที่มีอาณาบริเวณกว้างขวาง มีโบราณสถานสำคัญคือพระเจดีย์ พระอุโบสถ และพระมณฑป ติดกับกำแพงวัดด้านตะวันออกเฉียงใต้มีแนวรากฐานของ คลังดีบุก ดีบุกนั้นเป็นส่วยอย่างหนึ่งของบ้านเมืองที่เป็นของหายาก ในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศได้จัดเป็นสินค้าควบคุม
ทางด้านทิศใต้ของบริเวณวัดมีเจดีย์องค์ใหญ่เป็นเจดีย์ประธานของวัดและรากฐาน เป็นเจดีย์กลมทรงระฆัง ฐานแปดเหลี่ยม องค์เดิมชำรุดเหลือเพียงองค์ะฆัง กรมศิลปากรได้นำชิ้นส่วนที่พังทลายลงมาประกอบกันขึ้นและซ่อมเสริมเป็นองค์เจดีย์สมบูรณ์ที่เห็นกันอยู่ปัจจุบัน
ทางด้านทิศเหนือของวัด มีมณฑปทรงจัตุรมุขตั้งอยู่บนฐานประทักษิณสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุมไม้สิบสอง มีทางขึ้นตรงชาลาทั้ง ๔ ทิศ มุขทางด้านทิศเหนือและทิศใต้สั้น มุขทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยื่นออกไปรับกับส่วนของฐานประทักษิณ แต่ก่อนเคยประดิษฐานรูปเคารพ สันนิษฐานว่าเป็นรอยพระพุทธบาท ปัจจุบันเหลือแต่ฐานรองรับ
พระกำแพง ๕๐๐ กรุวัดเจ้าปราบ
พระกำแพงห้าร้อย กรุวัดเจ้าปราบ ถูกพบเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ขึ้นจากกรุประมาณ ๓๐ แผง มีสภาพสมบูรณ์ประมาณ ๑๐ แผง นอกนั้นเป็นพระชำรุด พุทธลักษณะ เป็นพระแผงสองหน้า เนื้อชินเงินรูปทรงห้าเหลี่ยม มีพระองค์เล็ก ๆ ปางมารวิชัย เรียงเป็นแถวด้านละ ๒๕๐ องค์ ทั้งสองด้านรวมเป็นจำนวน ๕๐๐ องค์ แสดงถึงความเชื่อตามคติของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน
พระกำแพงห้าร้อย กรุวัดเจ้าปราบ กรรมวิธีการสร้างจะแปลกกว่าพระกรุเนื้อชินกรุอื่น ๆ ตรงที่เป็นพระเบ้าประกบเหมือนพระแผงใหญ่ ๆ ทั่ว ๆ ไป แต่กลับเทจากด้านบนลงด้านล่าง แทนที่จะเทจากด้านล่างลงด้านบนเหมือนพระกรุโดยทั่วไป ส่วนบนที่เหลือชนวนจะมีการตัดแต่งเข้ารูป
นอกจากนี้ พระกำแพงห้าร้อย ยังเป็นพระกรุเนื้อชินเงิน ที่มีน้ำหนักมากที่สุด หากเทียบกับพระกรุเนื้อชินอื่น ๆ เนื่องจากว่ามีดีบุกเป็นส่วนผสมอยู่มาก
เนื่องจากมีพระแท้ที่สมบูรณ์เป็นจำนวนน้อยมาก จึงเป็นพระกรุที่หาชมของแท้ยากมากที่สุดกรุหนึ่ง และมีมูลค่าในการเช่าบูชาสูงมากที่สุดในบรรดาพระแผงขนาดใหญ่ทั้งหมด แม้แต่เศษชิ้นส่วนที่นำมาตัด 9 ตัด 6 ก็ยังมีมูลค่าหลาย ๆ หมื่น ปัจจุบันคาดว่าเหลือพระกำแพง 500 ในสภาพสมบูรณ์ไม่เกิน 10 แผงแล้วในเวลานี้
พระพิมพ์นี้จะเหมือนกับพระกำแพงห้าร้อยของกรุในจังหวัดกำแพงเพชร จะแตกต่างกันที่ความหนาบาง ซึ่งกรุวัดเจ้าปราบจะมีความปราณีตในการเทพระมากกว่า ขนาดก็จะบางกว่า ความแตกต่างอีกประการคือคราบกรุ พระกรุของวัดเจ้าปราบจะมีคราบปลวกติดอยู่ เนื่องจากสภาพในกรุที่บรรจุพระ มีรังปลวกอยู่ จึงใช้เป็นข้อสังเกตของพระกรุนี้
|