วัดหน้าวัว ( พระตำหนักเจ้าปลุก )
วัดหน้าวัวตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรี หมู่ที่ ๔ ต.เจ้าปลุก อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยนั้นพระองค์ได้เสด็จมาตามลำน้ำลพบุรี เพื่อไปสร้างเมืองลพบุรี เป็นราชธานีแห่งที่ ๒ ได้ทรงสร้างปราสาทจตุรมุข ไว้เป็นที่ประทับแรม พร้อมด้วยเรือนพักรับรองคณะทูตานุทูตชาวต่างประเทศและข้าราชบริพารที่ตามเสด็จอยู่ในที่บริเวณเหนือวัดนี้ และได้ทรงสร้างวัดนี้ถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนา ตามที่มีปรากฏในจดหมายเหตุบันทึกการเดินทางมาประเทศสยามของฝรั่งเศสได้บันทึกเอาไว้ ภายหลังสิ้นแผ่นดินของพระองค์สิ่งก่อสร้างต่างๆ ได้ถูกทอดทิ้งและชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา วัดหน้าวัวจึงถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าเป็นวัดร้างมาตลอด จนถึง พ.ศ. ๒๕๓๖ คณะชาวบ้านและทายก - ทายิกา ได้นิมนต์พระสงฆ์มาจำพรรษาและได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์กุฏิสงฆ์ และเสนาสนะขึ้นมาใหม่ให้เจริญขึ้น
ปัจจุบันวัดหน้าวัวมีท่านพระครูใบฎีกาดำรงค์ กัลยา จิตโต เป็นเจ้าอาวาส โดยมีเนื้อที่วัด ๒๓ ไร่
พระกรุวัดหน้าวัว เป็นพระเนื้อดินเผา ขนาดใหญ่สูงประมาณ ๘ นิ้ว เนื้อหาแกร่งผิวหยาบปานกลาง เนื้อหาใกล้เคียงพระแผงสิบชาติและพระโคนสมอ พุทธลักษณะ เป็นพระปางห้ามพระแก่นจันทร์ ประทับยืนอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว รูปทรงหน้าจั่ว ศิลปของพระกรุวัดหน้าวัวนี้ เป็นศิลปแบบชาวบ้าน ที่แสดงถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จัดเป็นพระกรุที่มีผู้รู้จักน้อยมากและหาชมยาก เป็นพระในตำนานหน้าหนึ่งของพระกรุเมืองอยุธยา |